ทีมเอ็มวีพีเจเอ อีโวทู จากโรงเรียนมงฟอร์ตวิทยาลัย  คว้ารางวัลชนะเลิศ และรางวัลความคิดสร้างสรรค์ดีเด่น  Space Youth Challenge 2022

ทีม MVPJA EVO. II โรงเรียนมงฟอร์ตวิทยาลัย แผนกมัธยม จังหวัดเชียงใหม่ คว้ารางวัลชนะเลิศและรางวัลความคิดสร้างสรรค์ดีเด่น ในการแข่งขันออกแบบโครงการสำรวจอวกาศระดับเยาวชน Space Youth Challenge 2022 จากผลงานที่มีชื่อว่า “PROMETHEUS” ที่มีความโดดเด่น นอกจากจะเป็นยานที่สามารถนำมนุษย์ไปยังดาวดวงอื่นแล้ว ยังได้คิดวางแผนถึงการไปตั้งรกรากระยะยาวบนดาวเคราะห์ดวงอื่น ผ่านการวางแผนอย่างมีระบบ มีชิ้นส่วนมากมายประกอบขึ้นเป็นสถานีอวกาศสำหรับการเดินทางระยะยาวในห้วงอวกาศ ตั้งแต่ส่วนที่หมุนเพื่อสร้างแรงโน้มถ่วงจำลอง ส่วนของเรือดำน้ำที่สามารถสำรวจใต้มหาสมุทรของดาวเคราะห์ ส่วนของยาน SSTO ที่สามารถพานักบินขึ้นลงจากพื้นผิวของดาวกลับไปยังวงโคจรได้โดยประหยัดเชื้อเพลิง เครือข่ายดาวเทียมกระจายสัญญาณที่สามารถติดต่อกับพื้นโลกได้ รวมไปถึงส่วนขุดเจาะสำรวจที่สามารถนำทรัพยากรที่พบบนดาวมาใช้ในภารกิจได้อีกด้วย

ดร. วิภู รุโจปการ รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยกำลังพัฒนาการวิจัยด้านเทคโนโลยีอวกาศ ภายใต้โครงการภาคีความร่วมมืออวกาศไทย เป้าหมายแรก คือการส่งยานอวกาศไร้คนขับไปโคจรรอบดวงจันทร์ แม้ดวงจันทร์จะเป็นเป้าหมายของภารกิจนี้ แต่สิ่งที่เราต้องการให้เกิดขึ้นมากที่สุด  คือการพัฒนากำลังคน พัฒนาเทคโนโลยี และพัฒนาศักยภาพด้านอุตสาหกรรมอวกาศเพื่อให้ไทยเทียบเท่าระดับสากล 

การแข่งขันออกแบบโครงการสำรวจอวกาศระดับเยาวชน “Space Youth Challenge 2022 : ยอดเยาวชน คนอวกาศ” ประจำปี 2565 จัดขึ้นเป็นปีที่ 2 หลังจากในปีแรก มีเหล่าเกมเมอร์สนใจเข้าร่วมแข่งขันเป็นจำนวนมาก ก่อให้เกิดกระแสความตื่นตัวในวงกว้าง เยาวชนที่เข้าร่วมแข่งขัน นอกจากจะได้เรียนรู้หลักทางฟิสิกส์ที่เกี่ยวข้องกับการสำรวจอวกาศที่เสมือนจริงแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่ใกล้เคียงกับความท้าทายในการสำรวจอวกาศจริง คือ การวางแผนและการทำงานเป็นทีม สร้างประสบการณ์แก่นักเรียนที่จะสร้างสรรค์ กระบวนการคิดและจินตนาการเสมือนกับนักวิทยาศาสตร์ที่ปฏิบัติการจริงๆ และทำงานร่วมกันเป็นทีม ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะอยู่ติดตัวนักเรียนไปตลอด และไม่ว่าจะเป็นโครงการอวกาศใหญ่แค่ไหนก็ไม่สามารถสำเร็จลุล่วงได้หากปราศจากสิ่งเหล่านี้ โครงการนี้ถือเป็นตัวช่วยผผลักดันในเราได้ก้าวไปสู่การสร้างกำลังคนด้านการวิจัยอวกาศ สามารถเปลี่ยนแปลงสังคมไทยให้เป็นสังคมแห่งการเรียนรู้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีให้เกิดขึ้นกับเด็กรุ่นใหม่ เยาวชนของชาติอย่างสร้างสรรค์ต่อไป

ดร. วิภู กล่าวเพิ่มเติมว่า ในปีนี้เรายังได้รับการสนับสนุนอย่างต่อเนื่องจากบริษัท Private Division บริษัท ผู้จัดจำหน่ายเกม Kerbal Space Program เกมแนว space simulator ที่นำมาใช้ในการแข่งขันในครั้งนี้ รวมถึงของรางวัลพิเศษ จากบริษัท เอ็นบีสเปซ จำกัด บริษัทสตาร์ทอัพด้านเศรษฐกิจด้านอวกาศของไทย มอบสิทธิ์ สำหรับทีมชนะเลิศ จะสลักชื่อทุกคนในทีมที่ชนะเลิศ ลงบนแผ่นอะลูมิเนียมแล้วส่งขึ้นสู่อวกาศไปกับดาวเทียมแน็คแซ็ท 2 (KNACKSAT-2) ด้วย ต้องขอขอบคุณผู้สนับสนุนทุกฝ่ายที่เห็นความสำคัญในการสร้างแรงบันดาลใจ ให้เยาวชนในครั้งนี้

หนึ่งในทีมผู้เข้าแข่งขัน กล่าวว่า “เป็นการทำงานที่ได้ใช้ทักษะหลายๆ อย่าง และได้เข้าใจคนอื่นมากขึ้น บางคนอาจจะมีความถนัดที่แตกต่างกัน ก็ช่วยกันได้ในสิ่งที่แต่ละคนถนัด โดยรวมก็คือค่อนข้างประทับใจ เพราะโปรเจคนี้เป็นมากกว่าการแค่เล่นเกม ถึงแม้จะสะบักสะบอมกันไปบ้าง ได้เริ่มต้นก้าวเท้าสู่ประตูบานใหม่ที่ไม่คุ้นเคย ย่อมดีกว่าการย่ำเท้าอยู่ที่เดิม” ในขณะที่ครูที่ปรึกษาได้ให้ความเห็นว่าเป็นการแข่งขันที่ช่วยเชื่อมโยงให้นักเรียนได้เห็นประโยชน์และการนำไปใช้ของความรู้ต่างๆ ที่ได้เรียนในห้องเรียน ผนวกกับเป็นทักษะที่ต้องใช้ศาสตร์ในหลายๆ แขนง ในสาขาต่างๆ ของวิทยาศาสตร์มารวมเข้าไว้ด้วยกัน

สำหรับการแข่งขันออกแบบโครงการสำรวจอวกาศระดับเยาวชน “Space Youth Challenge 2022 : ยอดเยาวชน คนอวกาศ” ประจำปี 2565 มีทีมส่งผลงานเข้าร่วมการแข่งขัน 35 ทีม จากทั่วประเทศ คณะกรรมการได้คัดเลือก จำนวน 10 ทีม เพื่อผ่านเข้าสู่รอบชิงชนะเลิศ ผลการแข่งขันทั้งหมด เป็นดังนี้
 
รางวัลชนะเลิศ ได้รับทุนการศึกษา 25,000 บาท พร้อมเกียรติบัตร ได้แก่ทีม MVPJA EVO. II โรงเรียน มงฟอร์ตวิทยาลัย แผนกมัธยม จังหวัดเชียงใหม่ ประกอบด้วยสมาชิกจำนวน 5 คน ได้แก่ 
1) นางสาวสุรภี วาสนาพิตรานนท์ 
2) นายวสุธันย์ วิศรุตมัย              
3) นายปีเทอร์ โรรอฟ                  
4) นางสาวภานุมาส นาคะเสถียร  
5) นายกิตติภูมิฐ์ กรจิระเกษมศานติ์          
 
รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ได้รับทุนการศึกษา  20,000 บาท  พร้อมเกียรติบัตร ได้แก่ทีม CUD SPACE FORCE โรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฝ่ายมัธยม กรุงเทพฯ 
 
รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ได้รับทุนการศึกษา  15,000 บาท  พร้อมเกียรติบัตร ได้แก่ทีม Denee โรงเรียนสาธิตสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ จังหวัดนนทบุรี
 
รางวัลชมเชย จำนวน 7 ทีม ได้รับทุนการศึกษาทีมละ  5,000 บาท  พร้อมเกียรติบัตร  ได้แก่
–        ทีม KWS-1 a โรงเรียนแกลง”วิทยสถาวร” จังหวัดระยอง
–        ทีม Nordtern โรงเรียนชลประทานวิทยา จังหวัดนนทบุรี
–        ทีม Peace Space โรงเรียนราชสีมาวิทยาลัย จังหวัดนครราชสีมา
–        ทีม Project MOSSCo โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ จังหวัดนครปฐม
–        ทีม SpaceBar สลาตัน โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ จังหวัดนครปฐม
–        ทีม Springfield Industries โรงเรียนเตรียมวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ กรุงเทพฯ
–        ทีม TEAMNEECHUEPHASAHTHAI โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย จังหวัดเลย
 
รางวัลความคิดสร้างสรรค์ ได้รับทุนการศึกษา  5,000 บาท  พร้อมเกียรติบัตร  ได้แก่ทีม MVPJA EVO.II โรงเรียน มงฟอร์ตวิทยาลัย แผนกมัธยม จังหวัดเชียงใหม่
 
รางวัลการนำเสนอโดดเด่น ได้รับทุนการศึกษา  5,000 บาท  พร้อมเกียรติบัตร  ได้แก่ทีม Denee โรงเรียนสาธิตสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ จังหวัดนนทบุรี

ดาวน์โหลดภาพบรรยากาศการแข่งขันเพิ่มเติมได้ที่ https://bit.ly/SYC2022-Gallery
 

Leave a Reply

Your email address will not be published.