GISTDA ร่วมกับสถาบันวิจัยการบินและอวกาศเกาหลี และภาคีร่วม จัดเสวนาความปลอดภัยและความมั่นคงด้านอวกาศ เตรียมยกระดับขีดความสามารถการเฝ้าระวังภัยจากอวกาศให้กับประเทศไทย
16 กันยายน 2565 กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม หรือ อว. โดย สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ หรือ GISTDA ร่วมกับสถาบันวิจัยการบินและอวกาศของเกาหลี หรือ KARI และเครือข่ายการทำงานด้าน Space Safety and Security จัดงานเสวนา Thailand Space Safety and Security เพื่อร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและประสบการณ์เกี่ยวกับการทำงานด้านความปลอดภัยในอวกาศ โดยหลังจากนี้ จะมีการนำข้อคิดเห็นที่ได้จากการเสวนาไปศึกษาและหาประเด็นเพิ่มเติม เพื่อจัดทำเป็นนโยบายชาติต่อไป
ดร.ณัฐวัฒน์ หงส์กาญจนกุล โฆษก GISTDA และผู้อำนวยการสำนักพัฒนาเทคโนโลยีกิจการอวกาศ กล่าวว่า แนวโน้มของอุตสาหกรรมอวกาศของ Bank of America Merrill Lynch ระบุว่า “80 ประเทศทั่วโลก มีดาวเทียมเป็นของตัวเองที่โคจรอยู่ในอวกาศ” นอกจากนี้ Union of Concerned Scientists ยังระบุอีกว่า “มีดาวเทียมที่อยู่ระหว่างการปฏิบัติการในอวกาศ จำนวน 3,372 ดวง ส่วนมากเป็นดาวเทียมวงโคจรระดับต่ำ หรือ Low Earth Orbit: LEO” ในขณะที่โครงการ Starlink ของ SpaceX มีแนวโน้มส่งดาวเทียมขึ้นสู่วงโคจรในปีนี้อีกกว่า 12,000 ดวง โดยจากการคาดการณ์ของ ESA พบว่า ขยะอวกาศส่วนมากทำให้เกิดอุบัติเหตุการชนกันของดาวเทียมและมีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อย ๆ เนื่องจากต้นทุนของการส่งดาวเทียมขึ้นสู่วงโคจรระดับต่ำ มีต้นทุนที่ต่ำลง ทำให้จำนวนวัตถุอวกาศมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างมาก ดังนั้น ประเด็นด้านการจัดการจราจรอวกาศ หรือ Space Traffic Management หรือ STM และการเฝ้าระวังทางอวกาศ หรือ Space Situational Awareness หรือ SSA จึงเป็นความท้าทายและเป็นเรื่องเร่งด่วนที่หลายประเทศทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทยต้องให้ความสำคัญอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งวัตถุอวกาศที่อยู่ในวงโคจรระดับต่ำ ซึ่งรวมถึงดาวเทียมสำรวจโลกของไทยอย่างไทยโชต และดาวเทียมอีก 2 ดวงที่กำลังจะถูกส่งขึ้นสู่อวกาศในช่วงต้นปี 2566 อย่าง THEOS-2 และ THEOS-2A ด้วย
หลายปีมานี้จะเห็นว่าประเทศเพื่อนบ้านมีกิจกรรมด้านอวกาศอยู่หลายครั้ง โดยเฉพาะการส่งดาวเทียมไปกับจรวดนำส่ง และประเทศไทยก็เป็นประเทศหนึ่งที่มีความเสี่ยงค่อนข้างสูงจากการตกหล่นของชิ้นส่วนจรวด เนื่องจากเป็นเส้นทางผ่านในการนำส่งจรวด ซึ่งที่ผ่านมา GISTDA และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะมีการแจ้งเตือนเกี่ยวกับเหตุการณ์ดังกล่าวอยู่บ่อยครั้ง แต่ละครั้งได้สร้างความวิตกกังวลให้กับประชาชนมาโดยตลอด หรือแม้แต่เหตุการณ์ที่สถานีอวกาศเทียนกงตกสู่โลกเมื่อปี 2561 แม้ว่าครั้งนั้นประเทศไทยจะมีแนวโน้มได้รับผลกระทบเพียง 0.01% เหตุการณ์ล่าสุดจรวด longmarch 5B ที่ตกกลับมาสู่โลกมีแนวโน้มตกลงประเทศไทยด้วยเช่นกันถึงแม้โอกาสจะน้อยก็ตาม แต่ก็สร้างความตระหนกให้กับประชาชนอยู่ไม่น้อยเช่นกัน
โฆษก GISTDA กล่าวต่อว่า ถึงเวลาแล้วที่ประเทศไทยต้องตระหนักและให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการด้านความปลอดภัยทางอวกาศให้มากขึ้น GISTDA จึงร่วมมือกับ KARI และเครือข่ายการทำงานด้านความปลอดภัยและความมั่นคงด้านอวกาศ จัดเสวนาครั้งนี้ขึ้นมาเพราะเราต้องการความคิดเห็นที่เป็นประโยชน์จากผู้เชี่ยวชาญและผู้ที่มีประสบการณ์ในการทำงานด้านความปลอดภัยและความมั่นคงด้านอวกาศทั้งในและต่างประเทศ เพื่อให้เราได้เดินหน้าต่อในการจัดทำเป็นนโยบายและแผนการดำเนินการเฝ้าระวังและบริหารจัดการการจราจรในอวกาศให้กับประเทศไทย เพื่อป้องกันและลดผลกระทบด้านความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน
อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2565 ที่ผ่านมา GISTDA ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางด้านการวิจัยขั้นแนวหน้า หรือ Frontier Research ซึ่งรวมถึงเทคโนโลยีอวกาศในสาขาต่างๆ กับ KARI โดยสาระภายใต้การลงนามบันทึกข้อตกลงฯ จะมีการหารือแนวทางการวางนโยบายและการพัฒนาเทคโนโลยีด้าน SSA และ STM ของประเทศไทย ทั้งนี้ ข้อมูลจากการเสวนานี้จะเป็นประโยชน์ต่อการจัดทำนโยบายและแผนประเทศไทยของคณะอนุกรรมการเพื่อจัดทำนโยบายและแผนการดำเนินการเฝ้าระวังและบริหารการจัดการจราจรอวกาศอีกด้วย.