วว. ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ BCG พัฒนาเศรษฐกิจฐานราก เสริมแกร่งเกษตรกร ผู้ประกอบการไทย ด้วย วทน.
การขับเคลื่อนเพื่อการพัฒนาประเทศไทยด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG อยู่บนพื้นฐานของ 4 + 1 ประกอบด้วย 4 สาขายุทธศาสตร์ คือ 1. เกษตรและอาหาร 2. สุขภาพและการแพทย์ 3. พลังงาน วัสดุและเคมีชีวภาพ และ 4. การท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ โดยรัฐบาลกำหนดแผนยุทธศาสตร์ด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG พ.ศ. 2564-2569 ประกอบด้วย 4 ยุทธศาสตร์หลัก ได้แก่
ยุทธศาสตร์ที่ 1 สร้างความยั่งยืนของฐานทรัพยากรและความหลากหลายทางชีวภาพ ด้วยการจัดสมดุลระหว่างการอนุรักษ์และการใช้ประโยชน์ธรรมชาติ ไม่ใช่เพียงทรัพยากรหรือปัจจัยการผลิตที่ใช้แล้วหมดไป แต่ธรรมชาติจะเป็นแหล่งกำเนิดของชีวิตและทุกสรรพสิ่งบนโลก เป็นพื้นฐานของความอยู่ดีกินดีของมนุษย์ รวมถึงการนำกลับมาใช้ซ้ำตามหลักการหมุนเวียน
ยุทธศาสตร์ที่ 2 การพัฒนาชุมชนและเศรษฐกิจฐานรากให้เข้มแข็ง ด้วยทุนทรัพยากร อัตลักษณ์ ความคิดสร้างสรรค์ และเทคโนโลยีสมัยใหม่ ใช้ศักยภาพของพื้นที่โดยการระเบิดจากภายใน เน้นการตอบสนองความต้องการในแต่ละพื้นที่เป็นอันดับแรก ใช้ประโยชน์จากความเข้มแข็งของ “ความหลากหลายทางชีวภาพ” และ “ความหลากหลายทางวัฒนธรรม” มาต่อยอดและยกระดับมูลค่าในห่วงโซ่การผลิตสินค้าและบริการให้มีมูลค่าสูงขึ้น
ยุทธศาสตร์ที่ 3 ยกระดับการพัฒนาอุตสาหกรรมภายใต้เศรษฐกิจ BCG ให้สามารถแข่งขันได้อย่างยั่งยืน นำความรู้ เทคโนโลยี และนวัตกรรมมายกระดับประสิทธิภาพการผลิต ลดความสูญเสียในกระบวนการผลิตให้เป็นศูนย์ การหมุนเวียนทรัพยากรกลับมาใช้ หรือการนำไปสร้างมูลค่าเพิ่มตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน ยกระดับมาตรฐานและให้ความสำคัญกับระบบการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เป็นลักษณะเศรษฐกิจแบบ “ทำน้อยได้มาก” แทน
ยุทธศาสตร์ที่ 4 เสริมสร้างความสามารถในการตอบสนองต่อกระแสการเปลี่ยนแปลงของโลก เน้นการสร้างภูมิคุ้มกัน และสร้างความสามารถในการตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงของโลกอย่างเท่าทันเพื่อบรรเทาผลกระทบ ด้วยการนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ไปเพิ่มศักยภาพของชุมชน ผู้ประกอบการ ปรับเปลี่ยนรูปแบบการผลิต/บริการ เพื่อตอบสนองต่อความต้องการของตลาด สร้างการเติบโตอย่างมีคุณภาพ เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพื่อนำไปสู่สังคมคาร์บอนต่ำ
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดย สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) ในฐานะหน่วยงานวิจัยและพัฒนาของประเทศ มีภารกิจสำคัญในการวิจัยพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (วทน.) ปัจจุบันดำเนินงานก้าวสู่ปีที่ 60 ตอบสนองนโยบายรัฐบาลและร่วมขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ โดยนำนโยบายเศรษฐกิจ BCG เป็นกรอบการดำเนินงาน เพื่อยกระดับเศรษฐกิจทั้งระบบ เพิ่มผลิตภัณฑ์มวลรวมประเทศ กระจายรายได้สู่ชุมชน สร้างชุมชนเข้มแข็งเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม จากการดำเนินงานของ วว. ประสบผลสำเร็จในการผลิตผลงาน ดังนี้
โครงการยกระดับเศรษฐกิจในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคกลางตะวันตกด้วย BCG โมเดล สนับสนุนทุนวิจัยจาก สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ภายใต้โครงการตาม พ.ร.ก. กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท ดำเนินงานจำนวน 2 โครงการ คือ
โครงการศูนย์นวัตกรรมผลิตหัวเชื้อจุลินทรีย์เพื่ออุตสาหกรรมอาหาร (ICPIM) เป็นคลังหัวเชื้อจุลินทรีย์กว่า 10,000 ชนิด สร้างผู้ประกอบการได้ 41 ราย ชดเชยการนำเข้าหัวเชื้อจุลินทรีย์ได้ 30% ส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจ 380 ล้านบาท และส่งผลกระทบทางสังคม 110 ล้านบาท ประสบผลสำเร็จ ดังนี้ 1) ขยายการผลิตจุลินทรีย์เพิ่มขึ้นได้ 25,000 ลิตรต่อปี 2) พัฒนานวัตกรรมจุลินทรีย์โพรไบโอติกที่โดดเด่น 15 สายพันธุ์ที่มีศักยภาพตามมาตรฐานของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ขึ้นทะเบียนสายพันธุ์จุลินทรีย์โพรไบโอติกกับ อย. จำนวน 8 สายพันธุ์ อยู่ระหว่างการขึ้นทะเบียน 7 สายพันธุ์ 3) พัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ที่เสริมโพรไบโอติก ได้แก่ ไอศกรีม นมอัดเม็ด ปลาร้าผง น้ำพริกพร้อมทาน เครื่องดื่มชงเย็น jelly และอาหารเสริมสูตรฟังก์ชั่นสำหรับลดน้ำหนัก สร้างภูมิคุ้มกัน ลดความเสี่ยงการเป็นเบาหวาน กระตุ้นการทำงานของสมอง และปรับสมดุลร่างกาย 4) พัฒนานวัตกรรมการยืด Shelf life ของโพรไบโอติกในผลิตภัณฑ์ต่างๆ 5) นวัตกรรมลดต้นทุนการผลิตโพรไบโอติกเพื่อการแข่งขันด้านราคากับสินค้านำเข้าจากต่างประเทศ และ 6) นวัตกรรม synbiotics และ post-biotics เพื่อเสริมภูมิสุขภาพและป้องกันโรค NCDs
โครงการยกระดับเศรษฐกิจในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคกลางตะวันตกด้วย BCG โมเดล ส่งผลให้เกิดผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมจำนวน 370 ล้านบาท ดังนี้ 1) ผลิตสารชีวภัณฑ์จำนวน 5 สายพันธุ์ นำไปสนับสนุนการทำงานของหน่วยงานพื้นที่ “กลุ่มอารักขาพืช สำนักงานเกษตรจังหวัด” รวมจำนวน 1.3 ล้านลิตร เพื่อป้องกันกำจัดศัตรูพืชทดแทนสารเคมีทางการและลดการนำเข้าสารเคมี โดยถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตสารชีวภัณฑ์ให้แก่เกษตรกรในพื้นที่จังหวัดกาญจนบุรี สุพรรณบุรี นครปฐม และอยุธยา ครอบคลุม 4 กลุ่มพืชเศรษฐกิจ ได้แก่ ไม้ผล พืชไร่ (ข้าว อ้อย มันสำปะหลัง) พืชสมุนไพรและพืชผัก 2) พัฒนากระบวนการขยายชีวภัณฑ์ทั้งในระดับห้องปฏิบัติการเพื่อขยายสู่การผลิตเชิงพาณิชย์และระดับชุมชน 3) จัดตั้งศูนย์นวัตกรรมผลิตเชื้อจุลินทรีย์ทางการเกษตร (Innovative Center for Production of Microorganisms Used in Agro- Processing Industry, ICAP) มีกำลังการผลิต 115,000 ลิตรต่อปี
นอกจากนี้ วว. ยังประสบผลสำเร็จในการนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ร่วมขับเคลื่อนนโยบายเศรษฐกิจ BCG ในสาขาอื่นๆ ที่มีผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมเป็นรูปธรรม ดังนี้
โครงการเสริมสร้างเศรษฐกิจฐานรากให้กับชุมชนกลุ่มไม้ดอกไม้ประดับด้วยนวัตกรรมเกษตร โดยใช้แนวทางมาลัยวิทยสถาน อว. สนับสนุนทุนวิจัยจาก สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) เพื่อร่วมสนับสนุนและพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากของประเทศ ด้วยการผลิตไม้ดอกไม้ประดับ พร้อมทำหน้าที่เป็นวิทยสถานแห่งปัญญา พัฒนาเศรษฐกิจฐานราก สร้างแหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติและวัฒนธรรม ตลาดไม้ดอกไม้ประดับและผลิตภัณฑ์ นำร่องส่งเสริมสนับสนุนผู้ประกอบการไม้ดอกไม้ประดับในพื้นที่จังหวัดเลยและลำปาง สามารถรวมกลุ่มผู้ประกอบการได้จำนวน 6 กลุ่มเป็นคลัสเตอร์ ประกอบด้วย คลัสเตอร์ไม้ดอกไม้ประดับจังหวัดเชียงใหม่ นครราชสีมา เลย สุพรรณบุรี นครนายก รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล เพิ่มรายได้ให้เกษตรกรคิดเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจกว่า 90 ล้านบาทต่อปี
โครงสร้างพื้นฐานธนาคารเมล็ดพันธุ์ชุมชน (Community Seed Bank) ณ สถานีวิจัยลำตะคอง จังหวัดนครราชสีมา มีศักยภาพอนุรักษ์เมล็ดพันธุ์พืช 20-50 ปี เก็บรักษาตัวอย่างเมล็ดพืชสูงสุด 10,000 ตัวอย่าง มุ่งขับเคลื่อน 3 มิติ คือ สำรวจ-อนุรักษ์ วิจัย-นำไปใช้ประโยชน์และให้บริการชุมชน
โครงการพัฒนาศักยภาพอุตสาหกรรมและนวัตกรรมอาหารปลอดภัย ประสบผลสำเร็จพัฒนาและทดสอบ “ข้าวสมุนไพรที่มีสารสำคัญถั่งเช่า” มีคุณสมบัติเด่นช่วยต้านอนุมูลอิสระ สร้างภูมิคุ้มกันให้ร่างกาย พร้อมต่อยอดแปรรูปเพิ่มมูลค่าเป็นผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มสมุนไพร “ชาใบข้าว” เพื่อสุขภาพ และพัฒนาต่อยอดด้านบรรจุภัณฑ์ให้แก่ผู้ประกอบการ เพื่อช่วยรักษาคุณภาพและลดความสูญเสียสินค้า รวมทั้งให้ความรู้ด้านเทคโนโลยีบรรจุภัณฑ์และพัฒนาบรรจุภัณฑ์ที่ได้มาตรฐาน เพื่อช่วยเพิ่มศักยภาพในการส่งออกสินค้า
โครงการพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีด้านเทคโนโลยีชีวภาพ ประสบผลสำเร็จพัฒนานวัตกรรมน้ำตาลที่ช่วยควบคุมระดับน้ำตาลให้สมดุล และถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิต “น้ำตาลพาลาทีน” ให้แก่ บริษัทน้ำตาลราชบุรี โดยมีกำลังการผลิต 60 ตันต่อปี มีมูลค่าทางเศรษฐกิจ 10 ล้านบาทต่อปี และมีแผนการส่งออกในอนาคต
โครงการพัฒนาเทคโนโลยีสกัดโปรตีนเข้มข้นจากพืชฐานชีวภาพของไทยระดับห้องปฏิบัติการ โดยร่วมกับบริษัทไทยฟู้ดส์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) สำหรับผลิตเป็นอาหารฟังก์ชั่นสู่เชิงพาณิชย์ (Plant Based Meat) ที่ไม่มีสารก่อภูมิแพ้ เป็นต้นแบบผลิตภัณฑ์อาหารที่เป็นเนื้อสัตว์เทียม
โครงการพัฒนาสมุนไพรอัตลักษณ์ประจำถิ่น โดยการทดสอบคุณภาพ ประสิทธิภาพ และส่งเสริมให้วิสาหกิจชุมชนจังหวัดน่านผลิตสารสกัดสมุนไพรส่งให้บริษัท ไลอ้อน (ประเทศไทย) จำกัด เพื่อนำไปพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์จากสมุนไพรตรีผลา มีมูลค่าการตลาด 50 ล้านบาทต่อปี และส่งเสริมสมุนไพรอัตลักษณ์อื่นๆ เช่น ใบหมี่ และมะไฟจีน เพื่อพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพจากทรัพยากรภายในประเทศ
โครงการวิจัยและพัฒนาสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพเพื่อเพิ่มมูลค่าผลผลิตจากแพะ (การสกัดแยกกลิ่นและศึกษา Male Pheromone จากขนแพะเหลือทิ้ง) สนับสนุนทุนวิจัยโดย สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ประสบผลสำเร็จวิจัยพัฒนานวัตกรรมการสกัดขนแพะพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์น้ำหอมได้สำเร็จเป็นครั้งแรกของประเทศไทย โดยผลิตภัณฑ์มีกลิ่นเฉพาะตัว โดดเด่น และลอกเลียนแบบยาก สามารถนำไปใช้ประโยชน์ในอุตสาหกรรมน้ำหอมและเครื่องสำอางในอนาคต เป็นการส่งเสริมนโยบาย BCG ในการเป็น Circular Economy ที่สามารถสร้างมูลค่าให้กับวัสดุเหลือทิ้ง และทำให้เกิดผลิตภัณฑ์ที่สร้างสรรค์ มีคุณค่า
โครงการพัฒนาไบโอเมทานอลจากวัสดุเหลือทิ้ง เพื่อต่อยอดการสร้างโรงงานไบโอเมทานอลต้นแบบแห่งแรกของประเทศไทยและลดการนำเข้าเมทานอล 100% โดย บริษัท BLCP นำผลงานวิจัยระดับห้องปฏิบัติการไปขยายผลและต่อยอดสู่เชิงพาณิชย์ทั้งในประเทศและต่างประเทศ
โครงการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมและขยะพลาสติกในชุมชนเพื่อการบูรณาการอย่างยั่งยืน ณ ตำบลตาลเดี่ยว อำเภอแก่งคอย จังหวัดสระบุรี ภายใต้ “ตาลเดี่ยวโมเดล” เพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน ดำเนินงานครอบคลุมพื้นที่ 4 ภูมิภาค ได้แก่ สระบุรี ชลบุรี เชียงราย และหนองคาย สร้างรายได้ให้หน่วยงานท้องถิ่นกว่า 10 ล้านบาทต่อปี พร้อมมุ่งขยายผลไปสู่พื้นที่อื่นๆ ของประเทศต่อไป
การดำเนินงานตามนโยบายเศรษฐกิจ BCG ของ วว. ดังกล่าว เป็นผลงานที่สำเร็จเป็นรูปธรรมและนำไปใช้จริงทั้งในบริบทเชิงเศรษฐกิจและเชิงสังคม มุ่งมั่นขยายผลโครงการให้ครอบคลุมพื้นที่การใช้ประโยชน์ตามยุทธศาสตร์ของรัฐบาลและมุ่งวิจัยพัฒนาผลงานใหม่อย่างต่อเนื่อง ให้บริการเบ็ดเสร็จครบวงจร ถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่ภาคอุตสาหกรรมและวิสาหกิจชุมชน เพื่อความเข้มแข็ง มั่นคง มั่งคั่งและยั่งยืนของประเทศไทย วว. พร้อมให้บริการด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ให้คำแนะนำปรึกษาด้านธุรกิจแก่หน่วยงานภาครัฐและเอกชนเพื่อพัฒนาศักยภาพในการแข่งขัน สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม ได้ที่ โทร. 0 2577 9000 โทรสาร 0 2577 9009 เว็บไซต์ www.tistr.or.th อีเมล : tistr@tistr.or.th line@TISTR IG : tistr_ig